คำถามยอดฮิตสำหรับสายทำคอนเทนต์ กราฟิก และการตลาด เชื่อว่าทุกคนต้องเคยได้ยินมาแน่ ๆ ก็คือ “ภาพจาก Google ใช้เชิงพาณิชย์ได้ไหม?” คำตอบคือไม่! มาดูเหตุผลกันว่าทำไมเราไม่ควรโหลดภาพจาก Google มาใช้ โดยไม่ได้รับอนุญาต

Google เป็นเพียงเครื่องมือค้นหา ไม่ใช่แหล่งแจกภาพฟรี
Google เป็นเครื่องมือค้นหาที่มีหน้าที่เพียงดึงข้อมูลจากเว็บไซต์ต่าง ๆ ทั่วโลกมาแสดงผลให้ผู้ใช้เห็นตามคำค้นที่พิมพ์เข้าไป ซึ่งรวมถึง “รูปภาพ” ที่ถูกจัดเก็บและแสดงไว้ในหมวด Google Images ด้วย
แต่สิ่งสำคัญที่ต้องเข้าใจให้ถูกต้องคือ Google ไม่ได้เป็นเจ้าของภาพเหล่านั้น และไม่ได้มีสิทธิ์ในการอนุญาตให้ผู้อื่นนำภาพเหล่านั้นไปใช้งานในรูปแบบใด ๆ ก็ตาม

เพราะภาพที่ปรากฏใน Google ส่วนใหญ่มีเจ้าของชัดเจน ไม่ว่าจะเป็นช่างภาพมืออาชีพ เว็บไซต์ข่าว เว็บบล็อก หรือแม้กระทั่งแพลตฟอร์มขายภาพอย่าง Shutterstock ซึ่งทั้งหมดนี้มี “ลิขสิทธิ์” ทั้งหมด
พูดง่าย ๆ ก็คือถ้าคุณเห็นภาพใน Google แล้วคิดจะก๊อบมาใช้เลย ไม่ว่าจะเป็นทำโปสเตอร์ร้าน ออกแบบเว็บไซต์ หรือยิงโฆษณา ขอบอกเลยว่าคุณอาจกำลังเอาตัวเองไปผูกกับปัญหาโดยไม่รู้ตัว
ภาพจาก Google คือ “ป้ายบอกทาง” ไม่ใช่ “ตู้แจกฟรี”
แล้วถ้ามีลายน้ำล่ะ? ถ้าใช้ทั้งลายน้ำหมายความว่าใช้ได้หรือไม่?
คำตอบสั้น ๆ คือ “ไม่ได้เด็ดขาด” เพราะ ลายน้ำ (Watermark) คือสัญญาณเตือนว่าภาพนี้มีเจ้าของ และยัง ไม่อนุญาตให้คุณใช้งานแบบเต็มรูปแบบ เลยมีลายน้ำพาดไว้ในรูปภาพเพื่อป้องกันการนำไปใช้โดยไม่ได้รับอนุญาต

ต่อให้ครอปหรือลบลายน้ำออกก็ไม่ได้
หนักกว่าการใช้ภาพที่มีลิขสิทธิ์โดยไม่ได้รับอนุญาตเสียอีก เพราะมันไม่ใช่แค่ใช้โดยไม่ได้ขอ แต่คือการตั้งใจปกปิดแหล่งที่มา และลบเครื่องหมายที่เจ้าของภาพใส่มาเพื่อปกป้องสิทธิ์ของตัวเอง
ลายน้ำคือการประกาศตัวตนของเจ้าของภาพชัดเจนมาก เหมือนเวลาเราปั๊มชื่อเจ้าของลงบนของมีค่า เช่น ใส่ชื่อบนกระเป๋า ใส่โลโก้งานกราฟิก หรือเซ็นชื่อบนงานศิลปะ มันคือ “รอยระบุว่าเป็นของใคร”

ถ้าคุณไป ครอป / ตัด / ลบลายน้ำออก เท่ากับว่าคุณรู้ว่าภาพนั้นมีเจ้าของแต่คุณ “จงใจ” จะทำให้ดูเหมือนไม่มีเจ้าของ เพื่อให้คนอื่นเข้าใจผิดว่าเป็นของคุณเอง หรือใช้ได้โดยเสรี
นั่นเลยเข้าข่าย “การแอบอ้าง” หรือ “การปลอมแปลงหลักฐาน” ซึ่งถ้าโดนดำเนินคดีขึ้นมา โทษมันหนักกว่าการใช้ภาพผิดลิขสิทธิ์แบบปกติ เพราะศาลมักมองว่า มีเจตนาชัดเจน
แล้วถ้าให้เครดิตเท่ากับใช้งานได้ใช่ไหม?
มีหลายคนเข้าใจว่า ถ้าเราใช้ภาพจาก Google หรือเว็บไหนก็ตาม แล้วใส่เครดิตให้เจ้าของภาพ ก็เท่ากับว่าเรามีมารยาท และใช้งานได้ไม่ผิด ฟังดูเหมือนจะเป็นทางออกกลาง ๆ ที่แฟร์กับทุกฝ่ายแต่น่าเสียดายเพราะความจริงมันไม่ใช่อย่างนั้น
การให้เครดิต เช่น “ภาพโดยนายจืด” หรือ “Photo by: shutterstock.com” เป็นเรื่องที่ดี เป็นมารยาทที่ควรทำในหลาย ๆ กรณีแต่สิ่งนี้ไม่ใช่ใบอนุญาตให้เราใช้ภาพนั้นได้โดยอัตโนมัติ โดยเฉพาะในกรณีที่เราเอาภาพนั้นไปใช้เพื่อผลประโยชน์ทางการค้า ไม่ว่าจะเป็นทำโฆษณา ใช้บนหน้าเว็บไซต์ร้านค้า โพสต์โปรโมตสินค้าบนโซเชียล หรือพรีเซนเทชันขายงานก็ตาม

ในแง่กฎหมาย นี่ก็ยังถือว่า เป็นการใช้ภาพโดยไม่ได้รับอนุญาตอยู่ดี
ถ้าเจ้าของภาพไม่เคยให้คุณใช้ ไม่ว่าจะด้วยข้อความอนุญาตล่วงหน้า หรือใบอนุญาตเฉพาะ การใส่เครดิตก็เป็นแค่การ “บอกว่าเอามาจากใคร” ไม่ได้หมายความว่าเขายินดีให้ใช้
การให้เครดิตเป็นสิ่งที่ดี แต่ไม่ได้แปลว่าใช้ภาพนั้นได้เสมอ ถ้าไม่มีสิทธิ์ ไม่มีใบอนุญาต หรือไม่มีการอนุญาตชัดเจน การนำภาพมาใช้ต่อให้ใส่เครดิตก็ยังผิดกฎหมายลิขสิทธิ์อยู่ดี

สรุปให้สั้น ๆ ก็คือภาพที่เราเห็นใน Google ไม่ใช่ของฟรี และไม่ได้หมายความว่าใช้ได้โดยอัตโนมัติ เพราะ Google แค่ทำหน้าที่แสดงผลจากเว็บไซต์ต่าง ๆ เท่านั้น ส่วนใหญ่ภาพเหล่านี้มีลิขสิทธิ์ชัดเจน ไม่ว่าจะเป็นของช่างภาพ เว็บไซต์ข่าว หรือแพลตฟอร์มขายภาพ เช่น Shutterstock
การนำภาพเหล่านี้ไปใช้ในงานเชิงพาณิชย์ เช่น โพสต์ขายของ ทำโฆษณา ออกแบบโปสเตอร์ หรือแม้แต่แค่ใส่ลงในพรีเซนเทชัน ก็อาจเข้าข่ายละเมิดลิขสิทธิ์ได้หากไม่ได้รับอนุญาตจากเจ้าของภาพ
แต่ถ้าอยากใช้งานภาพที่ถูกลิขสิทธิ์แบบ 100% โดยมีทีมงานมืออาชีพคอยช่วยอยู่เบื้องหลัง ติดต่อมาหาพวกเรา Number 24 x Shutterstok ได้เลยที่
Inbox : http://m.me/number24.co.th
LINE Official Account : https://line.me/R/ti/p/@klj9484n
Instagram : https://www.instagram.com/number24.co.th
Website : https://number24.co.th/