“โลโก้” องค์ประกอบสำคัญสำหรับการสร้างแบรนด์ที่ใคร ๆ ก็ไม่ควรมองข้าม มาค้นพบความสำเร็จของหลาย ๆ บริษัทด้วย 9 ประเภทการออกแบบโลโก้ ที่สามารถสร้างการจดจำและดึงดูดลูกค้าได้ เป็นตัวตั้งต้นในการจุดประกายแนวคิดการสร้างให้แบรนด์
คุณเคยสงสัยหรือไม่ว่าทำไมโลโก้บางอันถึงโดดเด่นกว่าโลโก้อื่น ๆ เพราะประเภทของโลโก้ที่ใช้มีบทบาทสำคัญต่อการจดจำและดึงดูดลูกค้า ซึ่งมีอยู่ 9 ประเภทหลัก ๆ ที่แบรนด์ดังหลายเจ้าชอบใช้
หลังจากที่คุณอ่านบทความนี้จนจบ คุณจะเริ่มมองเห็นการทำงานของโลโก้ทั้ง 9 ประเภทนี้ในอัตลักษณ์แบรนด์ที่มีชื่อเสียงมากมาย เช่น Apple, Google, Nike, IKEA และ Calvin Klein
9 ประเภทการออกแบบโลโก้มึอะไรบ้าง?
การออกแบบโลโก้เป็นเรื่องไม่ซับซ้อน ค่อนข้างเรียบง่ายเพียงจับคู่ชื่อธุรกิจและภาพประกอบเข้าด้วยกัน ซึ่งกระแสการสร้างแบรนด์เริ่มบูมขึ้นเมื่อปี 1990-2000 ในยุคที่อินเทอร์เน็ตเข้ามามีบทบาทในชีวิตประจำวัน ทำให้โลโก้มีความหลากหลายอย่างมากในยุคนั้น
แต่ปัจจุบันการทำแบรนด์ในยุคนี้อยู่ในยุค hyper-commercial หรือยุคที่มีการค้าขายกันมากเกินไป
การออกแบบโลโก้ได้ผ่านการขัดเกลาและพัฒนามาจนแยกประเภทออกมาได้ 9 รูปแบบ ซึ่งแต่ละประเภทมีวัตถุประสงค์ของตัวเอง โลโก้อาจดูเรียบง่ายหรือซับซ้อนก็ได้ สามารถใส่ข้อความหรือไม่มีเลยก็ได้ แถมยังเติมการเคลื่อนไหวให้โลโก้ได้อีกด้วย
เพื่อให้ธุรกิจของคุณมีเอกลักษณ์แข็งแรงท่ามกลางตลาดที่มีผู้คนหนาแน่น ต้องเข้าใจก่อนว่าโลโก้ประเภทต่าง ๆ คืออะไรและมีวัตถุประสงค์ต่อแบรนด์อย่างไร
มาดูรายละเอียดเพิ่มเติมเกี่ยวกับโลโก้ทั้ง 9 ประเภทเหล่านี้ และเรียนรู้วิธีการใช้งานอย่างมั่นใจ
1.โลโก้ตัวหนังสือและตัวอักษร
หนึ่งในประเภทโลโก้ที่เน้นไปที่ชื่อของธุรกิจโดยเฉพาะ หากชื่อธุรกิจของคุณสั้นและกระชับ โลโก้ประเภทนี้สามารถช่วยให้ทุกคนจดจำแบรนด์ของคุณได้ง่าย แค่คุณต้องเลือกฟอนต์และสีในการใช้ให้ชาญฉลาด
ข้อดีของโลโก้ประเภทนี้ก็คือ ช่วยให้ทุกคนจดจำชื่อธุรกิจได้ง่าย มีความชัดเจนและรูปลักษณ์ไม่เคยเก่า (Timeless) ใช้งานได้หลากหลายโอกาส อีกทั้งถ้านำไปใช้ร่วมกับแบรนด์อื่น ๆ สามารถสื่อสารถึงความร่วมมือได้ชัดเจนยิ่งกว่าประเภทใด ๆ
ตัวอย่าง
บริษัทดังที่ใช้โลโก้ประเภทนี้มีอยู่หลายเจ้า เช่น Coca-Cola, VISA, Google, Disney+ และ H&M x Rabanne (เป็นการร่วมมือกันระหว่างสองแบรนด์ดังแต่ใช้ชื่อเป็นโลโก้เหมือนกัน)
2.โลโก้ตัวอักษรและโลโก้จากตัวย่อ
การออกแบบโลโก้สไตล์นี้คล้ายเคียงกับแบบแรก แต่ใช้เทคนิคการย่อคำให้เหลือแค่ไม่กี่ตัวอักษร ส่วนใหญ่ถูกใช้กับธุรกิจที่มีชื่อยาว เพื่อให้เกิดการจดจำแบรนด์ที่ง่ายขึ้น
เทคนิคนี้มักถูกใช้โดยธุรกิจที่ต้องการนำเสนอความหรูหราหรือธุรกิจแฟชั่น เช่น Louis Vuitton, Yves Saint Laurent และ Chanel
ตัวอย่าง
ไม่เพียงแค่ธุรกิจแฟชั่นเท่านั้นที่ใช้เทคนิคนี้ แต่ยังมี CNN, IBM, NASA, McDonald’s, Netflix และ Facebook
3.โลโก้สัญลักษณ์และรูปภาพ
รูปภาพพูดดังกว่าคำพูด สำหรับการออกแบบนั้นคำนี้ไม่เกินจริง เพราะแบรนด์ธุรกิจที่เน้นสื่อสารผ่านโลโก้ด้วยรูปภาพ มักไม่ค่อยมีข้อความหรือรูปแบบตัวอักษรใด ๆ ปรากฎในโลโก้
เพื่อให้แบรนด์มีการจดจำได้ดียิ่งขึ้น โลโก้บางแบรนด์จะใช้สัญลักษณ์ง่าย ๆ แทนรูปภาพ ตัวอย่างเช่น Shell ใช้เปลือกหอย หรือ Apple ใช้รูปแอปเปิ้ลเพื่อสื่อสารอย่างตรงไปตรงมา
ตัวอย่าง
แบรนด์ที่ใช้โลโก้แบบรูปภาพได้อย่างชัดเจนก็คือ Instagram, Nike, MasterCard, Starbucks และ WWF
4.โลโก้อนิเมชั่นโลโก้
ตัวตนของแบรนด์สามารถนำเสนอผ่านการเคลื่อนไหวได้ จะเป็นอนิเมชั่นหรือโมชั่นกราฟิกก็ได้เช่นกัน แต่อย่าให้เยอะจนเกินไป
โลโก้สไตล์แบบนี้จะมีประสิทธิภาพสูงสุดเมื่อใช้บนแพลตฟอร์มที่รองรับวิดีโอ ช่วยให้แบรนด์โดดเด่นกว่าใครในท้องตลาด มีเอกลักษณ์จดจำได้ดี
ตัวอย่าง
แบรนด์บางเจ้านำอนิเมชั่นมาประกอบคู่กับโลโก้ของตนเอง ทำให้ทุกครั้งที่เห็นการเคลื่อนไหวแพทเทิร์นเหล่านี้เกิดขึ้น คนดูจะเริ่มจดจำได้ทันที เช่น FireFox, Amazon, Google Chrome, PayPal และ Pinterest
5.โลโก้มาสคอต
รูปแบบนี้จะช่วยให้ทุกคนจดจำแบรนด์ธุรกิจของคุณในฐานะตัวละครหรือการ์ตูน เข้าถึงได้ง่าย สนุกสนาน และน่าจดจำ หนึ่งในข้อได้เปรียบของโลโก้มาสคอตก็คือการสร้างบุคลิกภาพให้กับแบรนด์
ด้วยวิธีนี้ โลโก้มาสคอตจึงเป็นมากกว่าการออกแบบโลโก้ธรรมดา เพราะคุณต้องทำให้ทุกคนรู้สึกถึงตัวตนของแบรนด์และสร้างให้เกิดความผูกพันระยะยาวให้ได้
โลโก้กีฬามักนำสไตล์นี้มาใช้เพื่อช่วยเพิ่มขวัญและกำลังใจนักกีฬา ให้รู้สึกถึงความเป็นทีมและน้ำหนึ่งใจเดียวกัน ในขณะที่แบรนด์อื่น ๆ ใช้โลโก้สไตล์นี้เพื่อดึงดูดกลุ่มเป้าหมายครอบครัวที่มีเด็กอายุน้อย โดยเฉพาะแบรนด์ที่เกี่ยวกับของเล่นและผลิตภัณฑ์อาหาร
ตัวอย่าง
มาสคอตที่มีชื่อเสียงที่ใคร ๆ ก็รู้จักได้แก่ Colonel Sanders, Michelin Man, The Green Giant, Tony the Tiger, Chicago Bulls, Broncos และ Baltimore Orioles
6.โลโก้แอบสแตก (Abstract)
โลโก้ประเภทนี้จะใช้สื่อสารความเป็นแบรนด์ผ่านรูปทรง สี และเส้นที่เป็นสไตล์แอบแสตก ให้เกิดภาพลักษณ์เฉพาะตัวที่ไม่ให้ดูคล้ายภาพถ่าย
เป็นที่นิยมใช้ในธุรกิจที่ต้องการสื่อถึงเรื่องนวัตกรรม ความคิดสร้างสรรค์ และเทคโนโลยี จะพบเห็นได้บ่อยในแอปพลิเคชั่นบนโซเชียลมีเดีย
ผลการศึกษาจาก Journal of Marketing Research เผยว่าโลโก้สไตล์แอบสแตก (Abstract) คือโลโก้ที่มีประสิทธิภาพที่สุดที่บรรดาแบรนด์ที่มีชื่อเสียงกว่า 597 แบรนด์เลือกใช้
บ่อยครั้งที่เราจะมองโลโก้สไตล์นี้แล้วเกิดคำถามว่าสิ่งนี้คืออะไร ทำไมถึงดูลึกลับน่าค้นหาและถูกตีความได้หลากหลาย ทำให้ผู้ชมอยากทราบและอยากลงลึกไปกับแบรนด์ของคุณ
ตัวอย่าง
แบรนด์ที่เรารู้จักกันดีในเรื่องการใช้โลโก้แอบสแตกก็คือ Pepsi, Spotify, Slack และ Oympics
7.โลโก้สัญลักษณ์
การออกแบบโลโก้รูปแบบที่เก่าแก่ที่สุดในโลกก็คือโลโก้สัญลักษณ์ เป็นเหมือนดั่งตัวแทนของตระกูล ธุรกิจ หรือสิ่งอื่นใด ๆ ที่สามารถเป็นไปได้ทั้งภาพ ข้อความ ป้าย กรอบ หรือตราสัญลักษณ์
ชื่อของธุรกิจหลายแบรนด์มักลงชื่อและวันที่ก่อตั้งไว้ในโลโก้สัญลักษณ์ และการใช้โลโก้แบบนี้สื่อให้เห็นถึงความดั้งเดิม พลังอำนาจ ประเพณี และศักดิ์ศรี พบเห็นได้ง่ายในองค์กรรัฐบาล โรงเรียน มหาวิทยาลัยต่าง ๆ แต่แบรนด์ที่เกิดใหม่ก็สามารถใช้โลโก้สไตล์นี้ได้เช่นกัน
ตัวอย่าง
อย่างที่กล่าวไปข้างต้นว่าโลโก้สไตล์นี้ถูกใช้โดยสถาบันการศึกษาที่มีชื่อเสียงตั้งแต่ครั้งอดีต เช่น Havard University, Oxford University เป็นต้น
แต่ก็มีหลายบริษัทที่ใช้สไตล์โลโก้แบบนี้เพื่อยังคงความดั้งเดิมและประเพณีบางอย่างไว้ เช่น Warner Brothers, Porsche, the NFL และ Lamborghini
8.โลโก้ผสมผสาน
นี่คือการผสมผสานระหว่างภาพและข้อความ เพื่อสร้างการออกแบบโลโก้ที่ครอบคลุมทั้งสัญลักษณ์และชื่อแบรนด์ ถ้าคุณยังไม่มั่นใจและสงสัยว่าแบรนด์ของตัวเองควรเป็นแบบใด การใช้โลโก้ผสมผสานเป็นอีกกลยุทธ์ที่หลายแบรนด์ใช้ เพื่อทดสอบการมองเห็นและความเด่นชัด
เพื่อให้การออกแบบโลโก้ประเภทนี้มีประสิทธิภาพมากขึ้น คุณสามารถนำชื่อแบรนด์ของคุณมาใช้ผสมผสานกับข้อความได้ เพื่อเพิ่มมูลค่าและฟังก์ชันให้กับโลโก้
ตัวอย่างเช่น Pizza Hut ที่เสริมโลโก้ด้วยสัญลักษณ์คล้าย ๆ หลังคาเพื่อสื่อถึง “กระท่อม” (Hut) ให้ความรู้สึกเหมือนบ้านและพร้อมต้อนรับทุกคน
หลายแบรนด์ธุรกิจที่ใช้โลโก้ประเภทนี้ได้แก่ Lay’s, Dove, Burger King, Doritos และ Puma
9.ไดนามิกโลโก้
นี่คือโลโก้สไตล์ที่เกิดกระแสไม่นานมานี้ เป็นโลโก้แบบไดนามิกที่สามารถปรับแต่งได้อย่างลื่นไหลและยืดหยุ่น สร้างรูปแบบใหม่ ๆ ได้ตามต้องการโดยมีพื้นฐานโลโก้รูปทรงเดียว แต่มีการเปลี่ยนสีหรือองค์ประกอบอะไรบางอย่างเข้าไป โดยที่ไม่ทำลายเอกลักษณ์ดั้งเดิม
ตัวอย่างเช่น Airbnb แพลตฟอร์มเช่าที่พักชื่อดัง ใช้สีที่หลากหลายกับแปรงพู่กันวาดมือเพื่อสร้างไอคอนสำหรับแคมเปญการตลาด ทำให้เกิดความหลากหลายเรื่องของสีแต่ไม่ทำลายเอกลักษณ์ดั้งเดิม
โลโก้แบบนี้จะประสบความสำเร็จได้ง่ายขึ้นถ้าแบรนด์ ๆ นั้นมีชื่อเสียงอยู่แล้ว เพราะผู้ชมจะคุ้นเคยกับสัญลักษณ์เดิม ๆ อยู่ ทำให้การประมวลผลในสมองของพวกเขาเข้าใจแบรนด์ได้ง่ายกว่า
ตัวอย่าง
นี่คือประเภทของโลโก้ที่แบรนด์หยิบมาเล่นน้อยที่สุด เพราะการเปลี่ยนแปลงดีไซน์บ่อยครั้งอาจทำให้ผู้ชมเข้าใจผิด แต่ถ้าแบรนด์ ๆ นั้นมีชื่อเสียงอยู่แล้วก็สามารถนำมาใช้ได้ เช่น Apple, Nickelodeon, Meta และ MTV
เท่านี้คุณก็รู้ประเภทการออกแบบโลโก้ทั้ง 9 รูปแบบแล้ว ถึงแม้ว่าการสร้างโลโก้ให้ถูกใจทุกคนจะเป็นเรื่องยาก แต่การรู้ว่าควรเริ่มต้นจากตรงไหนก็เป็นสิ่งที่ดี เพื่อให้คุณเริ่มต้นเส้นทางนักออกแบบโลโก้ได้อย่างมั่นใจ
บทความโดย : 9 Types of Logos to Know and Use in Your Branding Projects
เรียบเรียงโดย : ทีมงานชัตเตอร์สต็อกประเทศไทย ดำเนินงานโดย นัมเบอร์ 24