สีส่งผลกับความรู้สึกโดยตรงในเสี้ยววินาที การใช้สีถูกต้องให้เกิดอารมณ์ที่ถูกใจจึงเป็นสิ่งที่คุณต้องเรียนรู้ไว้ หรือเรียกรวม ๆ ว่า “จิตวิทยาของสี”
เราได้พูดคุยกับคุณ Leatrice Eiseman ผู้อำนวยการองค์กร Eiseman Center for Color Information and Training และ Pantone Color Institute ที่ให้คำปรึกษาเรื่องการใช้สีมาแล้วกว่า 30 ปี และเป็นผู้เขียนหนังสือที่เกี่ยวกับสีมากถึง 8 เล่มด้วยกัน
มาดูกันว่าเทคนิคที่เขาใช้ในการจับคู่สีและอารมณ์ ทำได้อย่างไร
กำหนดอารมณ์
อย่างแรกคุณต้องคิดเสียก่อนว่าอารมณ์แบบไหนหรือเรื่องแบบใดที่คุณอยากสื่อสารกับลูกค้า ใครคือลูกค้ากลุ่มเป้าหมาย และสิ่งที่คุณต้องการเพื่อให้บรรลุเป้าหมายนั้นคืออะไร?
กลุ่มสีแต่ละกลุ่มจะมีความหมายทางอารมณ์และความสัมพันธ์ทางจิตวิทยาของตัวเอง ดังนั้นคุณต้องเลือกใช้สีที่สอดคล้องกับความหมายของผลิตภัณฑ์ตัวเองให้ดี
สีโทนเย็น (น้ำเงิน, เขียว)
สีน้ำเงินและเขียวอยู่ในกลุ่มสีโทนเย็น ให้ความรู้สึกสดชื่นและเงียบสงบ ทำไมถึงเป็นแบบนั้นก็เพราะสองสีนี้คือสีของท้องฟ้า ผืนน้ำ และธรรมชาติ ถ้าผลิตภัณฑ์ของคุณให้ความรู้สึกเย็นสบายสดชื่น ก็ควรใช้เหล่านี้ เช่น สีของหมากฝรั่งรสมินต์ บรรจุภัณฑ์ก็ควรเป็นสีเขียวหรือน้ำเงิน เป็นต้น
“Sea Wave”
โดยทั่วไปแล้วสีน้ำเงินให้ความรู้สึกน่าเชื่อถือและไว้วางใจ แต่ก็ขึ้นอยู่กับเฉดสี เช่น สี Royal Blue (ดราม่า) สี Baby Blue (เหมือนเด็ก) สี Tiffany Blue (หรูหรา)
สีเขียวให้ความรู้สึกที่เกี่ยวข้องกับธรรมชาติและพันธุ์พืช แต่ก็ขึ้นอยู่กับเฉดสี เช่น สี Emerald green (หรูหรา) สี Seafoam green (เงียบสงบ) สี Kelly green (กระปรี้กระเปร่า)
สีโทนอุ่น (แดง, ส้ม, เหลือง)
สีแดง ส้ม เหลือง เป็นสีที่โดดเด่นสะดุดตา อยู่ในกลุ่มสีโทนอุ่น เรามักเชื่อมโยงสีเหล่านี้กับความร้อนของไฟและพระอาทิตย์ ให้ความรู้สึกสดชื่นมีพลัง
สีแดงให้ความรู้สึกเร้าใจและน่าหลงใหล แต่ก็แสดงให้เห็นถึงความก้าวร้าว สีส้มให้ความรู้สึกสนุกสนานและไร้เดียงสา สีเหลืองให้ความรู้สึกร่าเริงและกลมเกลียว การใช้สีโทนอุ่นให้ความรู้สึกสบายใจ อบอุ่นและมีความสุข
“Sahara”
สีชมพู & สีม่วง
หากผลิตภัณฑ์ของคุณต้องการสื่อสารว่ามีกลิ่นหอมและรสชาติที่หอมหวาน อ่อนโยนละเอียดอ่อน คุณ Eiseman แนะนำให้ลองใช้สีชมพู & ม่วง เช่น สีชมพูรองเท้าบัลเล่ต์ สีม่วงลาเวนเดอร์ไลแลค และสีพีช เป็นต้น สีอ่อนเหล่านี้ให้ความรู้สึกโรแมนติก นุ่มนวล ดูเป็นผู้หญิง และอ่อนโยน
สีม่วงสามารถสื่อถึงความรู้สึกทางจิตวิญญาณ ถ้าเป็นสีม่วงเข้มก็สื่อถึงราชวงศ์ผู้ยิ่งใหญ่ ถ้าอยากให้งานของคุณมีความลึกลับให้ลองใช้สีม่วง
“Sunset”
สีดำ
สีดำสื่อถึงความหรูหรา สง่างาม สูงศักดิ์ และชนชั้นสูง เช่น บัตรเครดิตสีดำ ชุดสูทสีดำ รถลีมูซีนสีดำ เป็นต้น อีกทั้งยังสื่อถึงพลังอำนาจ เผด็จการและความแข็งแกร่งจนน่ากลัว คุณ Eiseman แนะนำว่าการใช้สีดำควรใช้ร่วมกับสีอื่นจะมีประสิทธิภาพที่สุด เช่น สีเหลือง สีน้ำเงิน สีเทาชาร์โคล เป็นต้น
“Leopard”
สีขาว
เราจะเปรียบสีขาวได้ดั่งความบริสุทธิ์ สะอาด อ่อนต่อโลก และความเรียบง่าย แต่บางครั้งก็รู้สึกถึงความเย็นชาและแข็งกระด้าง กลับกันถ้าเป็นสีขาวเฉดคล้ายเปลือกไข่กลับให้ความรู้สึกอบอุ่น นุ่มนวลและดูแพง ถ้าเติมสีเหลืองเข้าไปเล็กน้อย (สีโทนอุ่น) จะให้ความรู้สึกเป็นมิตรมากขึ้น
“Winter Snow”
สีกลาง
สีกลางก็ เช่น สีเทา เนื้อ ครีม หรือน้ำตาลอมเทา คุณ Eiseman กล่าวว่าสีเหล่านี้มีความคลาสสิก เชื่อถือได้ และเหนือกาลเวลาไม่มีเก่า ดูได้จากสีของอนุเสาวรีย์และโบราณสถานต่าง ๆ ถ้าคุณต้องการสื่อสารว่าแบรนด์ของคุณน่าเชื่อถือและมีความทนทานให้ลองใช้สีเหล่านี้ แม้จะไม่ได้เป็นสียอดนิยมที่ใช้ทั่วไปก็ตาม แต่กลับกันก็คือสีเหล่านี้ไม่มีวันล้าสมัยแน่นอน
“Sloth”
4 เคล็ดลับการใช้งานสีที่ผู้เชี่ยวชาญแนะนำ!
1.เลือกสีที่สื่อสารเรื่องประสาทสัมผัสได้หลากหลาย
คุณ Eiseman แนะนำให้เลือกสีที่สื่ออารมณ์ได้หลากหลาย เช่น เรื่องของรสชาติ คุณก็ควรใช้สีที่ใกล้เคียงกับอาหารที่ทุกคนอยากรับประทานอย่าง องุ่น ทับทิม เบอร์รี่ มะนาว เพื่อให้ดูมีชีวิตชีวาและชุ่มชื้นหัวใจ
“การเชื่อมโยงสีเข้ากับประสาทสัมผัส เช่น การมอง การดู การรับรส จะทำให้สีเป็นเครื่องมือที่ทรงพลัง ถ้าสามารถทำได้จะมีบางอย่างเกิดขึ้นในใจผู้ชมอย่างแน่นอน” คุณ Eiseman กล่าว
“Pomegranate Punch”
2.ปรับความเข้มแสงเพื่อควบคุมพลัง
ยิ่งสีอ่อนเท่าไหร่ยิ่งรู้สึกถึงความอ่อนโยนและเงียบสงบ แต่ยิ่งสีเข้มเท่าไหร่ยิ่งทรงพลังมากเท่านั้น “สี Navy Blue จึงเป็นสีที่ดูจริงจังมาก ๆ“ คุณ Eiseman กล่าว คล้าย ๆ กับอาชีพที่ทรงอำนาจ เช่น ตำรวจ นักบิน ทหารเรือ เป็นต้น
เทคนิคนี้ใช้ได้กับทุกตระกูลสี ยิ่งเข้มยิ่งมีพลัง เช่น สีแดงเบอร์กันดีมีพลังมากกว่าชมพูอ่อน สีเทาชาร์โคลเข้มโดดเด่นกว่าสีเทานกพิราบ
3.ปรับความเข้มสีเพื่อความน่าตื่นตา
เพื่อให้ทุกอย่างดูน่าตื่นตาตื่นใจขึ้นมา ให้ลองปรับความเข้มของสี สาเหตุที่สีเข้มขึ้นก็เพราะไม่มีเฉดสีเทาหลงเหลืออยู่ในภาพ ยิ่งความเข้มสีน้อยยิ่งใกล้เคียงสีเทามากเท่านั้น ทำให้สีตุ่นและดูไม่น่าตื่นเต้นเอาเสียเลย
ตัวอย่างเช่น ดอกกุหลาบของรูปฝั่งซ้ายมีสีค่อนข้างจืด มีสีเทาผสมอยู่เยอะทำให้ดูอ่อนโยนและโรแมนติก ในขณะที่ภาพมันฝรั่งฝั่งขวามีความเข้มสีชมพูสูง ให้ความรู้สึกสนุกสนานมีชีวิตชีวา
4.ใช้วัสดุพื้นผิวสีรุ้งหรือสีโลหะดึงดูดความสนใจ
จากสิ่งที่คุณ Eiseman กล่าวก็คือ ดวงตาของเรามักจับต้องกับสิ่งหลากสี ดังนั้นเมื่อเราเห็นสีรุ้งทีสะท้อนออกมาจากเหล็ก จะทำให้สายตาเราคิดว่าสิ่งนั้นดูโดดเด่นเป็นพิเศษ
แต่สิ่งที่กล่าวไปทั้งหมดไม่มีกฎเกณฑ์ตายตัว เทรนด์สีสามารถเปลี่ยนแปลงได้เสมอตามกาลเวลา ขึ้นอยู่กับว่าโลกในแต่ละช่วงเวลานั้นให้ความสำคัญกับสิ่งใดเป็นหลัก คุณสามารถพบแรงบันดาลใจในการใช้สีในชีวิตประจำวัน เช่น ภาพยนตร์ แฟชั่น การ์ตูน ฯลฯ
สุดท้ายก็คืออย่าเดา! การเลือกสีโดยมีข้อมูลคอยสนับสนุนเป็นเรื่องที่ดี อย่าให้สัญชาติญาณของคุณชี้นำไปยังจุดที่คุณอาจหันหลังกลับไม่ได้
บทความโดย : Color Communication 101: An Essential Guide to Conveying Moods with Color
เรียบเรียงโดย : ทีมงานชัตเตอร์สต็อกประเทศไทย ดำเนินงานโดย นัมเบอร์ 24