RGB และ CMYK คือโหมดการใช้สีที่ออกแบบมาเพื่อใช้งานที่แตกต่างกันตามแต่ละวัตถุประสงค์โดยเฉพาะ เป็นสิ่งที่นักออกแบบกราฟิกและครีเอทีฟโฆษณาใช้งานเป็นประจำ ซึ่งแต่ละโหมดสีก็จะมีวัตถุประสงค์การใช้งานแตกต่างกันไป การเลือกใช้ระบบสีที่เหมาะสมจะส่งผลโดยตรงต่อคุณภาพของผลงาน มาค้นพบวิธีการใช้งานโหมดสีทั้งสองอย่างให้เหมาะสมกับงานของคุณได้ที่นี่!
สี RGB และ CMYK คืออะไร
สี RGB คือ
RGB ย่อมาจาก R = Red, G = Green, B = Blue เพราะฉะนั้นสี RGB ก็คือระบบสีที่ใช้แสงสีแดง (Red), สีเขียว (Green), และสีน้ำเงิน (Blue) ผสมกันเพื่อสร้างสีต่าง ๆ โดยใช้หลักการของการผสมแสงแบบบวก (Additive Color Model) เข้าไปจนเกิดเป็นสีใหม่ ๆ ยิ่งผสมมาก สีก็จะยิ่งสว่างขึ้น ด้วยหลักการดังกล่าว ทำให้ RGB สามารถสร้างสีได้จำนวนสูงสุดถึง 16.7 ล้านเฉดสีเลยทีเดียว โดยแต่ละสีมีค่าตั้งแต่ 0-255 เช่น
- RGB (255, 255, 255) = สีขาว
- RGB (0, 0, 0) = สีดำ
- RGB (255, 0, 0) = สีแดง,
- RGB (0, 0, 255) = สีน้ำเงิน
สี CMYK คือ
CMYK ย่อมาจาก C = Cyan (ฟ้าอมเขียว), M = Magenta (แดงอมม่วง), Y = Yellow, K = Key/Black เพราะฉะนั้นสี CMYK ก็คือระบบสีที่ใช้หมึกสีฟ้าอมเขียว (Cyan), แดงอมม่วง (Magenta), สีเหลือง (Yellow), และสีดำ (Key/Black) ใช้หลักการของการผสมสีแบบลบ (Subtractive Color Model) คือการดูดกลืนแสงที่สะท้อนจากวัตถุ ซึ่งสีบางส่วนจะถูกดูดกลืนไว้ และสีบางสีจะถูกสะท้อนออกมา ซึ่งยิ่งผสมมาก สีจะยิ่งมืดลง จึงหมายความว่าเมื่อผสมสีทั้งหมดเข้าด้วยกันจะได้สีดำนั่นเอง ทำให้สามารถสร้างสี CMYK ได้ประมาณ 1 ล้านเฉดสี โดยแต่ละสีมีค่าตั้งแต่ 0-100% เช่น
- CMYK (0%, 100%, 100%, 0%) = สีแดง
- CMYK (0%, 0%, 0%, 100%) = สีดำ
ความแตกต่างของสี RGB กับ CMYK
ความแตกต่างหลักระหว่างระบบสี RGB กับ CMYK คืออยู่ที่วิธีการผสมสีและการนำไปใช้งาน CMYK ใช้หลักการผสมสีแบบลบ (Subtractive Color) เหมาะสำหรับงานพิมพ์ในการออกแบบโฆษณา เช่น หนังสือ, โบรชัวร์, นามบัตร ในขณะที่สี RGB ใช้หลักการผสมสีแบบบวก (Additive Color) เหมาะสำหรับงานดิจิทัลและ Social Media Marketing เช่น งานที่แสดงผลบนหน้าจอคอม, ทีวี, มือถือ นอกจากนี้ ระบบสี RGB ยังสามารถสร้างสีได้มากกว่าและสีมีความสดใส สว่างมากกว่า เมื่อ CMYK สีไม่สว่างหรือสดเท่า โดยเฉพาะโทนเรืองแสง จึงเหมาะกับการควบคุมคุณภาพสีในด้านการพิมพ์ได้ดีกว่า RGB นั่นเอง
การเลือกใช้สี RGB และ CMYK
สี RGB
RGB คือโมเดลสีที่ใช้ในการออกแบบดิจิทัล โดยเกิดขึ้นจากการผสมผสานสีระหว่างสีแดง (Red) สีเขียว (Green) และสีน้ำเงิน (Blue)
วัตถุประสงค์หลักของการใช้โมเดลสี RGB ก็คือใช้กับหน้าจอและอุปกรณ์ดิจิทัล เหมาะสำหรับทำกราฟิกออกแบบแบนเนอร์ใช้งานแสดงผลที่จอคอมพิวเตอร์ จอมือถือ โดยมักจะเน้นให้ไฟล์เล็กกระชับสีสวยสด ใช้ความละเอียดที่ 72 DPI ขึ้นไปเซฟไฟล์เป็น JPEG, PNG, GIF, smallest file PDF ขนาดเล็ก ๆ เพื่อให้โหลดไม่เปลืองค่าเน็ต โหลดได้เร็ว เช่น โทรศัพท์มือถือ ทีวี จอดิจิทัล ฯลฯ
ข้อดีและข้อเสีย : สี RGB คือสีที่สามารถเลือกใช้งานได้ง่าย มีสีสดใสและสว่าง โดยใช้เฉพาะในการออกแบบสำหรับแสดงผลทางหน้าจอคอมพิวเตอร์ สามารถเซฟไฟล์เพื่อนำไปใช้ในหน้าเว็บไซต์ได้ทันที และสามารถแปลงไฟล์เป็น CMYK สำหรับสื่อสิ่งพิมพ์โปสเตอร์, ใบปลิวได้ แต่สีที่ได้จะเพี้ยน และคุณภาพไม่ดีเท่าที่ควรเนื่องจากไฟล์ RGB มักจะถูกลดทอนให้ไฟล์เล็กเพื่อแสดงผลได้เร็วในหน้าจอ แต่มักมีความละเอียดไม่เพียงพอไปใช้ในงานพิมพ์อิงค์เจ็ทหรืองานพิมพ์ป้ายขนาดใหญ่

สี CMYK
CMYK คือโมเดลสีที่ใช้ในงานตีพิมพ์เป็นหลัก เกิดขึ้นจากการผสมสีฟ้า (Cyan) สีม่วงแดง (Magenta) สีเหลือง (Yellow) และสีดำ (Black)
วัตถุประสงค์ของการใช้โมเดลสี CMYK ก็คือการสร้างสีในวัสดุที่ใช้ตีพิมพ์ เช่น นิตยสาร โปสเตอร์ บรรจุภัณฑ์ ฯลฯ ให้ได้สีที่ถูกต้องไม่ผิดเพี้ยน โดยเน้นที่ไฟล์ใหญ่ละเอียด คมชัด สีสันตรงตามโปรไฟล์ที่กำหนด ใช้ความละเอียดที่ 300DPI ขึ้นไป เซฟไฟล์เป็น AI, PSD, EPS, TIF, Highest Quality PDF ขนาดใหญ่ที่ไม่ลดทอนคุณภาพ เพื่อให้รายละเอียดแบนเนอร์ออกมาครบถ้วนที่สุด
ข้อดีและข้อเสีย : CMYK คือสีที่มีความคมชัดสูงโดยเฉพาะเหมาะเป็นอย่างยิ่งสำหรับงานพิมพ์ และการออกแบบส่งโรงพิมพ์ต่าง ๆ แต่ต้องเลือกกระดาษที่นำมาใช้พิมพ์ให้เหมาะสม ไม่เช่นนั้นสีที่ได้จะทึบ ไม่สว่างหรือสดเท่า RGB และไม่สวยงามเท่าที่ควร โดยเฉพาะโทนเรืองแสง รวมถึงหมึกพิมพ์ชนิดนี้จะมีราคาค่อนข้างสูงนั่นเอง
บทบาทหลักของสีแดง สีเขียว และสีน้ำเงิน
สีแดง เขียว น้ำเงิน คือแม่สีที่มีบทบาทสำคัญต่อโมเดลสี RGB และ CMYK การใช้โหมดสี RGB จะใช้กับจอที่แสดงผลเป็นดิจิทัลเท่านั้น ช่วยให้เกิดช่วงสีที่หลากหลายจากการปรับใช้ปริมาณสีแดง เขียว และน้ำเงิน ทำให้เกิดสีใหม่ ๆ ขึ้นมาบนหน้าจอ
ส่วนโมเดลสี CMYK คือสีที่จะถูกใช้ในการตีพิมพ์เท่านั้น ซึ่งสีหลัก ๆ จะเกิดจากสัดส่วนสีที่แตกต่างกัน เพื่อให้เกิดเฉดสีที่แตกต่างกันระหว่าง สีฟ้า ม่วงแดง และเหลือง ตามด้วยสีดำที่เติมลงไปเพื่อให้เกิดความลึกและเกิดเงา
ซึ่งทั้งสองอย่างถูกใช้แยกเพื่อความแม่นยำของสีที่ถูกวางลงไปในชิ้นงานดิจิทัลและงานตีพิมพ์

สี RGB และ CMYK ส่งผลต่องานออกแบบกราฟิกอย่างไร?
ถ้าคุณเข้าใจความแตกต่างระหว่าง RGB และ CMYK สามารถช่วยให้งานออกแบบของคุณมีประสิทธิภาพมากขึ้น ทำให้แบรนด์มีความน่าดึงดูดมากขึ้น องค์ประกอบแต่ละส่วน เช่น สี ตัวอักษร เลย์เอาต์ และการจัดวาง มีบทบาทเฉพาะตัวที่ส่งผลต่อองค์รวมของงานกราฟิกอย่างมาก
สิ่งสำคัญก็คือคุณต้องตั้งค่าไฟล์งานออกแบบตั้งแต่ต้นก่อนลงมือทำ เช่น ไฟล์ RGB ไม่เหมาะกับงานตีพิมพ์ คุณจะต้องเปลี่ยนแปลงการตั้งค่าเป็น CMYK ซึ่งอาจทำให้สีของงานคุณเปลี่ยนไป
สีเติมแต่ง (Additive) vs. สีหักลบ (Subtractive)
ที่มาของสีเติมแต่งและสีหักลบ ที่มาของชื่อก็คือการสังเกตวิธีที่แสงกระทำต่อสีขาวและสีดำ
RGB คือสีที่เริ่มต้นจากสีดำ และเพิ่มระดับแสงสีแดง เขียว และน้ำเงินในระดับต่าง ๆ จะทำให้สีดำกลายเป็นสีอื่น ๆ ตามต้องการ ถ้าเราเพิ่มสีแดง เขียว และน้ำเงินลงไปในปริมาณที่เท่ากัน ผลที่ได้ก็คือแสงสีขาว
ตัวอย่างที่คุณเห็นอยู่ทุกวันก็คือ “ดวงอาทิตย์”

CMYK คือสีที่เกิดจากการใช้สีฟ้า สีม่วงแดง สีเหลือง และสีดำในปริมาณที่กำหนดลงไปในกระดาษสีขาว เช่น กระดาษ ผ้า ฯลฯ ยิ่งคุณใช้หมึกมากเท่าไหร่ ภาพของคุณจะยิ่งเข้มและมืดลง ทำให้สีแดง เขียว และน้ำเงินถูกสะท้อนออกไป
ถ้าคุณรวมสีฟ้า ม่วงแดง และสีเหลืองในปริมาณที่เท่ากัน จะได้สีดำสนิทที่ไม่สะท้อนสีอะไรออกมาเลย

สรุปเรื่อง RGB vs. CMYK
ถ้าต้องตัดสินใจว่าระหว่าง RGB และ CMYK ท้ายที่สุดแล้วจะใช้แบบใด ให้เลือกจากวัตถุประสงค์และบริบทการนำไปใช้งานของโปรเจกต์นั้น ๆ
RGB คือโหมดสีที่เหมาะกับแพลตฟอร์มดิจิทัล เช่น เว็บไซต์ โซเชียลมีเดีย เนื่องจากสามารถสร้างสีที่สดใสได้หลากหลาย

CMYK คือโหมดสีที่เหมาะกับงานตีพิมพ์บนวัตถุต่าง ๆ เช่น ใบปลิว หนังสือพิมพ์ เสื้อ แก้ว ฯลฯ

ทำความเข้าใจความแตกต่างเหล่านี้ไว้ให้ดี แล้วงานของคุณจะออกมาดูดีทุกชิ้นอย่างแน่นอน
บทความโดย : RGB vs. CMYK: Which Color Mode Is Best for Your Project?
เรียบเรียงโดย : ทีมงานชัตเตอร์สต็อกประเทศไทย ดำเนินงานโดย นัมเบอร์ 24