สายอาชีพกราฟิกดีไซน์กำลังเติบโตและเปลี่ยนแปลงไปตามกาลเวลา ทำให้เกิดเป็นผู้เชี่ยวชาญแขนงต่าง ๆ เกิดขึ้นมากมาย ซึ่งแต่ละอาชีพก็จะเชี่ยวชาญหลักการออกแบบกราฟิกที่แตกต่างกันไป
การออกแบบกราฟิกเป็นสาขาอาชีพที่น่าสนใจ และสามารถต่อยอดได้มากมาย นักออกแบบที่มีชื่อเสียงส่วนใหญ่มักมีความหลงใหลและมีความสนใจด้านใดด้านหนึ่งอย่างลึกซึ้งเสมอ ในขณะที่นักออกแบบทั่วไปมีสกิลที่หลากหลายและยืดหยุ่นมากกว่า
ด้วยหลักการพื้นฐานการออกแบบที่แข็งแรง คุณสามารถพัฒนาแนวคิดการออกแบบ สุนทรียภาพ และสร้างประสบการณ์ใช้งานที่ดีให้ลูกค้าได้ ไม่ว่าจะเป็นอะไรก็ตาม
การออกแบบกราฟิกคืออะไร?
คำจำกัดความของ “การออกแบบกราฟิก” ตามหลักการจริง ๆ แล้วหมายถึง “การวางแผน ออกแบบ หรือจัดการผลิตเพื่อใช้สื่อสารด้วยภาพหรือข้อความ ซึ่งหมายถึงสื่อสิ่งพิมพ์ บรรจุภัณฑ์ โฆษณา ป้ายไฟ และโลโก้ รวมถึงศิลปินต่าง ๆ ที่สามารถวาดภาพประกอบหรือใช้เทคนิคพิเศษในการตีความให้ออกมาเป็นผลงานต่าง ๆ ”
ถึงแม้ว่าปัจจุบันความหมายของคำนี้จะยังไม่สมบูรณ์ เพราะการเติบโตของสายอาชีพนี้ยังคงโตขึ้นอย่างต่อเนื่อง จนเกิดผู้เชี่ยวชาญแขนงต่าง ๆ
ปัจจุบันมีนักออกแบบมากมายที่ศึกษาหลักการเหล่านี้ และกลายเป็นผู้ที่สามารถทำงานได้อย่างหลากหลายไม่จำกัดสายงาน
หลักการออกแบบกราฟิก
การทำความเข้าใจหลักการออกแบบคือเรื่องสำคัญ สำหรับคนที่เริ่มเดินทางสายนี้อย่างจริงจังควรรู้ไว้ประดับตัว แม้ว่าคุณจะมีไอเดียที่ยอดเยี่ยมแค่ไหนแต่ถ้าทำให้เป็นจริงไม่ได้ก็เท่านั้น
หลักการนี้จะช่วยให้คุณจัดองค์ประกอบภาพได้ดียิ่งขึ้น สวยงามขึ้น และสื่อสารออกไปได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น
ความสมดุล
ความสมดุลคือหลักการสากลที่เข้าใจกันทั่วไป สอดคล้องกับแรงโน้มถ่วงที่เราเจอในทุก ๆ วัน เพราะเรารับรู้ได้ว่าองค์ประกอบมีน้ำหนักและทิศทางแบบใดอยู่ทุกวัน
สิ่งนี้มีผลอย่างมากต่อการรับรู้ในตัวงาน ทำให้เกิดความรู้สึกที่ดูกลมกลืนหรือตึงเครียดได้ง่าย ๆ ขึ้นอยู่กับคุณ ทำให้เกิดเส้นนำสายตาและพื้นที่ต่าง ๆ ให้คุณวาดลวดลายได้อย่างหลากหลาย
การจัดตำแหน่ง
การจัดตำแหน่งก็คือการจัดระเบียบองค์ประกอบให้คอลัมน์หรือแถวอยู่ระนาบเดียวกัน เปรียบเสมือนกาวที่ยึดสิ่งต่าง ๆ ไว้ด้วยกัน หากไม่มีสิ่งนี้จะทำให้งานออกแบบเข้าใจได้ยาก
นักออกแบบทุกคนควรใช้เส้น Grid ในโปรแกรมออกแบบช่วยในการจัดระเบียบ วางโครงสร้าง และลำดับขั้นตอน เพื่อความแม่นยำที่ไม่ผิดเพี้ยน
ลำดับขั้น
การวางลำดับขั้นเป็นองค์ประกอบสำคัญในงานออกแบบ ซึ่งเล่นกับขนาดรูปร่างของวัตถุแบบไล่สเกล เช่น สี รูปร่าง น้ำหนัก
การเน้นเฉพาะส่วน
การเน้นเฉพาะสี ขนาด คอนทราสต์ ฯลฯ ช่วยให้งานออกแบบมีจุดเด่นดึงดูดสายตาผู้ชมมากขึ้น สิ่งนี้สามารถใช้ร่วมกับแบบลำดับขั้นได้ เพื่อให้องค์ประกอบในภาพไม่จืดจางลง
สัดส่วน
สัดส่วนคือความสัมพันธ์ของขนาดองค์ประกอบต่าง ๆ ซึ่งต้องไปด้วยกันกับหลักการลำดับขั้น องค์ประกอบที่ใหญ่กว่ามักจะถูกเน้นให้มีความสำคัญมากกว่า และองค์ประกอบที่เล็กกว่าคือสิ่งสุดท้ายที่ผู้ชมจะมองเห็น
คอนทราสต์
คอนทราสต์คือการแสดงให้เห็นถึงความแตกต่างระหว่างองค์ประกอบต่าง ๆ อย่างชัดเจน เช่น สี ขนาด รูปร่าง และพื้นผิว คล้าย ๆ กับความสัมพันธ์ของสีดำและสีขาว มีเป้าหมายเพื่อสร้างความชัดเจนในภาพ
ทำซ้ำเป็นช่วง ๆ
การออกแบบโดยใช้รูปแบบทำซ้ำ เป็นอีกวิธีที่น่าสนใจโดยที่คุณต้องเว้นระยะอย่างสม่ำเสมอเป็นจังหวะ อย่าให้เกิดช่วงที่ขัดสายตา
การเคลื่อนไหว
การใช้เทคนิเคลื่อนไหว สามารถสร้างเส้นนำสายตาไปยังส่วนต่าง ๆ ของงานออกแบบได้อย่างครบถ้วน ไม่ให้ผู้ชมเข้าใจคลาดเคลื่อนจากสิ่งที่คุณตั้งใจทำไว้
พื้นที่ว่าง
หรืออีกชื่อก็คือ Negative space เป็นอีกเทคนิคหนึ่งที่ปล่อยให้พื้นที่ในงานออกแบบว่างไว้ ให้ภาพรวมในงานดูสะอาดไม่เกะกะสายตา
ยิ่งคุณพัฒนาทักษะความคิดสร้างสรรค์ใหม่ ๆ มากเท่าไหร่ คุณจะยิ่งเจอสิ่งที่คุณถนัดเร็วขึ้นเท่านั้น แล้วจะพบว่าอุตสาหกรรมใดที่เหมาะกับตัวคุณที่สุด ดังนี้
1.การสร้างแบรนด์
หลายคนเข้าใจผิดว่าการทำแบรนด์ดิ้งและการออกแบบโลโก้คือสิ่งเดียวกัน “แบรนด์ไม่ใช่สิ่งที่คุณพูด แต่เป็นสิ่งที่ให้ลูกค้าพูด” เพราะแบรนด์ไม่ใช่แค่เพียงโลโก้แต่เป็นมุมมองของลูกค้าที่มีต่อคุณ ไม่ว่าจะเป็นการบริการ วัสดุสินค้า โฆษณา การออกแบบร้าน ฯลฯ ทุกอย่างล้วนมีส่วนเชื่อมโยงต่อมุมมองลูกค้า ที่คุณต้องใส่ใจอย่างสม่ำเสมอ
นักออกแบบแบรนด์ดิ้งคือ CEO ฝ่ายสร้างสรรค์และผู้กำกับงานศิลป์ที่ต้องทำงานร่วมกับลูกค้า เพื่อผลิตผลงานคุณภาพออกมาให้ตรงตามแนวคิดและกลยุทธ์ที่วางไว้ เพื่อสร้างการรับรู้แก่ลูกค้าที่เข้ามาเยี่ยมชมแบรนด์ โดยมีเป้าหมายเพื่อสร้างค่านิยม บุคลิกภาพ และจุดขายอันเป็นเอกลักษณ์ของบริษัท
ทุกองค์ประกอบ เช่น โลโก้ สี ตัวอักษร ภาพถ่าย ภาพวาด ฯลฯ ต้องสื่อสารไปในทิศทางเดียวกัน เพื่อระบุได้ชัดเจนว่าแบรนด์ของคุณเป็นอย่างไรและเกี่ยวข้องกับอะไร ซึ่งต้องทำอย่างสม่ำเสมอให้คนดูเกิดความคุ้นเคยจนได้รับความไว้วางใจ
2.การออกแบบ (UI/UX)
เป็นการออกแบบโดยอาศัยความเข้าใจนิสัย ความต้องการ ความชอบ เป้าหมาย และข้อจำกัดของลูกค้ากลุ่มเป้าหมาย ซึ่งปกติจะใช้ในงานออกแบบเชิงดิจิทัล เช่น การออกแบบเว็บไซต์และแอปพลิเคชั่น
ซึ่งผู้ทำอาชีพนี้ต้องค้นคว้าหาข้อมูลจากกลุ่มเป้าหมายก่อนว่ามีการใช้งานอย่างไร ใช้สิ่งนี้แล้วจะเกิดอะไรต่อไป และท้ายที่สุดแล้วต้องได้อะไรกลับมา เป็นต้น ซึ่งโดยส่วนใหญ่จะทำงานร่วมกับทีมออกแบบเว็บไซต์ที่เป็นสายโปรแกรมเมอร์
3.งานออกแบบสื่อสิ่งพิมพ์
ถึงแม้การตลาดจะเปลี่ยนแปลงไปอย่างมากจากครั้งอดีต แต่งานสื่อสิ่งพิมพ์ก็ยังคงอยู่จนถึงปัจจุบัน นักออกแบบที่เลือกเดินเส้นทางสายนี้ต้องมีความเข้าใจเรื่องการวางเลเยอร์ในหนังสือพิมพ์ นิตยสาร โบรชัวร์ และแม้กระทั่งสื่อดิจิทัล
แต่สื่อสิ่งพิมพ์กำลังจะตายแล้วอย่างนั้นเหรอ? เพราะสื่อสิ่งพิมพ์ในโลกตะวันตกถือกำเนิดมาแล้วอย่างน้อย 560+ ปีที่ผ่านมา เทคโนโลยีได้พัฒนามาเรื่อย ๆ ตั้งแต่การเขียนหมึกลงบนกระดาษมาจนถึงการผลิตหนังสือดิจิทัล
ทุกการพัฒนาของเทคโนโลยีได้สร้างและกำจัดหลากหลายอาชีพบนโลกให้เกิดขึ้นและดับไป แม้นิตยสารจะถูกสั่งผลิตเป็นจำนวนมากมายแต่ก็ไม่มากเท่าแต่ก่อน เพราะได้รับผลกระทบจากสื่อดิจิทัลและภาวะเศรษฐกิจหลังโรคระบาด
จากรายงานผลสำรวจประจำปีของ US Census Service พบว่าระหว่างปี 2002 ถึง 2020 รายได้จากสื่อหนังสือพิมพ์ลดลงประมาณ 52% นิตยสารลดลง 40.5%
แต่ที่น่าตกใจคือยอดขายของหนังสือยังคงเพิ่มขึ้นทุกปีแม้จะมีการวางจำหน่าย eBooks ในหลายประเทศ ช่วยให้อุตสาหกรรมนี้ยังคงมีมูลค่าหลายพันล้านดอลลาร์
ถึงแม้การออกแบบสื่อหนังสือพิมพ์จะน้อยลง แต่งานออกแบบไฟล์ PDF ก็ยังคงมีอยู่อย่างต่อเนื่อง ทำให้ความต้องการผู้เชี่ยวชาญสายนี้ยังคงมีอยู่และไม่มีทางหายไปง่าย ๆ
4.นักวาดภาพประกอบ
นักวาดภาพประกอบคือผู้สร้างสรรค์งานศิลปะที่สามารถสื่อสารเรื่องราว แนวคิด ข้อความได้อย่างอิสระ มีหลายรูปแบบ เช่น ภาพวาดมือ ดิจิทัล ภาพระบายสี สเก็ตช์ ฯลฯ ภาพเหล่านี้จะช่วยยกระดับการสื่อสารด้วยรูปภาพได้ทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็น บทความ หนังสือ เว็บไซต์ ดิจิทัลโพสต์ ฯลฯ
ภาพประกอบจะเป็นตัวเข้าไปผสมผสานบุคลิกของภาพให้เกิดความน่าสนใจ ทำให้ผู้ชมจดจำและทำให้แบรนด์ของคุณแตกต่างจากผู้อื่น
5.นักสร้างภาพเคลื่อนไหว
ในคอนเทนต์วิดีโอเราคงเห็นภาพเคลื่อนไหวเต็มไปหมด ไม่ว่าจะเป็นหนัง กีฬา การ์ตูน โฆษณา โลโก้ แอปพลิเคชั่น ฯลฯ ซึ่งภาพเคลื่อนไหวล้วนมีพื้นฐานจากงานกราฟิกภาพนิ่ง
6.นักออกแบบบรรจุภัณฑ์
ปฏิเสธไม่ได้ว่าทุกผลิตภัณฑ์ล้วนมีบรรจุภัณฑ์เป็นส่วนประกอบเสมอ นักออกแบบจะต้องคำนึงถึงวัสดุ มาตรฐานการผลิต ความสวยงาม และความโดดเด่นเหนือคู่แข่ง อีกทั้งยังต้องคำนึงเรื่องความปลอดภัยขณะขนส่งและการสื่อสารต่อผู้ซื้อในขณะวางขายด้วย
บรรจุภัณฑ์ช่วยเพิ่มมูลค่าให้กับสิ่งของ เช่น กล่องใส่รองเท้ารุ่น limited, กระถางใส่ต้นไม้หายาก หรือขวดไวน์รุ่นครบรอบ 10 ปี เป็นต้น
7.นักออกแบบโมเดล 3D
นักออกแบบโมเดล 3D คือผู้สร้างโดยใช้โปรแกรมก่อรูปทรงและวัตถุ 3D ซึ่งเป็นทักษะเฉพาะที่ต้องใช้ความชำนาญสูง เพื่อให้เกิดความแม่นยำและถูกต้องในหลากหลายมุมมอง ซึ่งจะถูกนำไปใช้สร้างภาพเคลื่อนไหวต่อไป
เป็นอีกงานที่แสดงให้เห็นผลิตภัณฑ์แบบ 360 องศา เพื่อให้ผู้ชมเกิดภาพในหัวที่แตกต่างออกไปจากภาพ 2D
โมเดล 3D ถูกใช้งานอย่างกว้างขวางในอุตสาหกรรมที่ต้องการแสดงให้เห็นรายละเอียดลึกซึ้ง เช่น ออกแบบผลิตภัณฑ์ เกม ภาพยนตร์ โปรดักชั่น สถาปัตยกรรม ตกแต่งภายใน และบรรจุภัณฑ์
8.นักออกแบบการตลาด
ทุกวันนี้นักออกแบบหลายคนนอกจากต้องออกแบบงานแล้ว ก็ยังกลายเป็นนักการตลาดแบบไม่ทันตั้งตัวเช่นกัน ซึ่งคุณต้องคอยพัฒนาแคมเปญโฆษณาด้วยกลยุทธ์ การเขียนข้อความ และภาพที่ต้องสื่อสารได้ตรงประเด็น
เนื่องจากที่กราฟิกต้องประสานงานกับฝ่ายบัญชี นักการตลาด ผู้จัดการ อยู่บ่อยครั้ง ทำให้คุณต้องขายงานภาพอยู่บ่อย ๆ ถ้าคุณมีความรู้เรื่องการตลาดไว้เสียบ้างจะทำให้ขายงานง่ายขึ้น เช่น อีเมล เว็บไซต์ แบนเนอร์ โซเชียลโพสต์ เป็นต้น
9.นักออกแบบโฆษณาสื่อนอกบ้าน (Out of Home) โปสเตอร์และบิลบอร์ด
การออกแบบโปสเตอร์และบิลบอร์ด เป็นส่วนหนึ่งของแคมเปญโฆษณาและการตลาด ซึ่งการนำผลงานไปใช้โฆษณาในพื้นที่กลางแจ้งหรือพื้นที่สาธารณะจะเรียกว่า Out of Home (OOH)
โปสเตอร์และป้ายโฆษณาคือเครื่องมือทำการตลาดอันทรงประสิทธิภาพ เพราะหากวางในพื้นที่ ๆ มีการสัญจรไปมาสูงจะทำให้ผู้คนจำนวนมากเข้าถึงสินค้าได้ การออกแบบจึงต้องมีขนาดใหญ่ สื่อสารได้กระชับฉับไวและกระตุ้นการตัดสินใจได้ทันที
สรุปแล้วสายอาชีพกราฟิกเป็นหนึ่งในอาชีพที่สามารถกำหนดทิศทาง วัฒนธรรม และสังคมในยุคปัจจุบันอย่างแท้จริง เป็นสร้างสรรค์และช่วยแก้ปัญหาต่าง ๆ ในสังคมได้ในรูปแบบทางอ้อม ทั้งหมดที่กล่าวมาอาจครอบคลุมไม่ทั้งหมดด้วยซ้ำ เพราะประสบการณ์คือสิ่งที่เพิ่มพูนขึ้นเรื่อย ๆ ตามกาลเวลา ยิ่งนักออกแบบกราฟิกมีความรู้มากเท่าใด ยิ่งส่งผลดีกับผู้ร่วมงานด้วยเท่านั้น
ถ้าคุณยังเป็นมือใหม่ ขอให้เปิดกว้าง มีความอยากรู้อยากเห็น และขยันหมั่นเพียร เส้นทางสายอาชีพเหล่านี้ก็จะเปิดโอกาสให้คุณเข้าไปเอง
บทความโดย : Types of Graphic Design: Explore 9 Areas of Expertise
เรียบเรียงโดย : ทีมงานชัตเตอร์สต็อกประเทศไทย ดำเนินงานโดย นัมเบอร์ 24